GoodToKnow.PureThailand.com รวมเรื่องน่ารู้จาก forward mail
RSS icon Home icon
  • เหตุการณ์สำคัญที่’คนไทย’ควรรู้ ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

    Posted on May 23rd, 2009 goodtoknow No comments

    เปิดบันทึกเหตุการณ์สำคัญที่คนไทยควรรู้ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ่อหลวงของชาวไทย

    ในโอกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีในเดือนมิถุนายน ศกนี้ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ขอนำท่านไปสู่เหตุการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ซึ่งได้รวบรวมจากเอกสาร/หนังสือต่างๆ เพื่อเป็นเกร็ดความรู้ ดังต่อไปนี้

    – วันที่ 5 ธันวาคม 2470 ตรงกับวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำ ปีเถาะ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช พระราชโอรสพระองค์เล็ก ในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ และหม่อมสังวาลย์ ประสูติ ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาซูเสตต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เหตุที่ประสูติที่อเมริกา เพราะขณะนั้น พระบรมราชชนก เสด็จทรงศึกษา และปฏิบัติหน้าที่ราชการในต่างประเทศ ทรงมีพระเชษฐภคินี และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระนาม “ภูมิพลอดุลยเดช” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานมาจาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีความหมายว่า “ผู้ทรงกำลังอำนาจไม่มีอะไรเทียบในแผ่นดิน”

    – หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงประกาศสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 รัฐบาลไทยในขณะนั้น ได้กราบทูลเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งเป็นพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 8 แห่งราชจักรีวงศ์ จากนั้นในวันที่ 10 กรกฎาคม 2478 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช ทรงได้รับเฉลิมพระนามเป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช” ในครั้งนั้นทั้งสองพระองค์ ยังประทับอยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

    – ในปี 2480 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช สายพระเนตรสั้นลง เป็นเหตุให้ต้องทรงฉลองพระเนตรนับตั้งแต่นั้นมา

    – ในปี 2488 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง รัฐบาลได้กราบบังคมทูลอัญเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งขณะนั้นทรงพระชนมายุครบ 20 พรรษา เสด็จกลับมาประทับ เป็นมิ่งขวัญของประชาชนชาวไทย ในการเสด็จนิวัตสู่ประเทศไทยครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะพระเจ้าน้องยาเธอฯ ได้เสด็จกลับมาด้วย โดยได้เสด็จถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2488 อันตรงกับวันพระราชสมภพ ขณะมีพระชนมายุครบ 18 ปีบริบูรณ์

    – ในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ประชาชนชาวไทย ต้องประสบกับความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตอย่างกระทันหัน ด้วยพระแสงปืน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง และในวันเดียวกันนี้เอง พระบรมวงศานุวงศ์ และคณะรัฐมนตรี ก็ได้กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และได้มีการประกาศเฉลิมพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” แต่เนื่องจากในขณะนั้น ทรงมีพระชนมายุเพียง 19 พรรษา ยังไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองได้ อีกทั้งยังมีพระราชภารกิจเรื่องการศึกษา จึงได้มีการแต่งตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และพระยามานวรราชเสวี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

    – วันที่ 19 สิงหาคม 2489 ได้เสด็จกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ พร้อมสมเด็จพระราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธออีกครั้ง โดยก่อนจากประเทศไทยในครั้งนั้น ได้ทรงเสด็จไปถวายบังคมลา พระบรมศพพระบรมเชษฐาธิราชที่พระบรมมหาราชวัง ขณะที่ประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังสนามบินดอนเมือง ได้มีประชาชนคนหนึ่งตะโกนว่า “อย่าละทิ้งประชาชน” ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงมีพระราชนิพนธ์เรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์” ว่าทรงอยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า “ถ้าประชาชนไม่ “ทิ้ง” ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ “ละทิ้ง” อย่างไรได้ แต่รถวิ่งเร็ว และเลยไปไกลเสียแล้ว..”

    เมื่อเสด็จกลับไปยังประเทศสวิสเซอร์แลนด์เพื่อศึกษาต่อ ก็ได้ทรงเปลี่ยนจากสาขาวิทยาศาสตร์ มาทรงศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ และนิติศาสตร์ เพื่อเตรียมพระองค์ในการเป็นพระประมุขของประเทศ

    – ในปี 2493 เมื่อเสด็จนิวัตกลับประเทศไทยแล้ว ได้ทรงกำหนดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม จนถึงวันที่ 29 มีนาคม 2493 อันเป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ

    – หลังจากนั้นในวันที่ 28 เมษายน 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ก็ได้ทรงจัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ซึ่งพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งนี้ นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรก สำหรับพระมหากษัตริย์ไทยในยุคประชาธิปไตย ที่ได้ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่นเดียวกับปวงชนชาวไทย

    – ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ได้ทรงจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ปกครองแผ่นดินอย่างสมบูรณ์ โดยมีพระปรมาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” ซึ่งในครั้งนั้น ได้ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” พร้อมกันนี้ ได้ทรงสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ พระอัครมเหสี ขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี”

    – ในวันที่ 22 ตุลาคม 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงผนวช ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช (หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์) วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงเป็นพระราชอุปชฌาย์ และสมเด็จพระสังฆราช ได้ถวายพระสมณฉายานามว่า “ภูมิพโล ภิกขุ” ทรงประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงอยู่ในเพศบรรพชิตอยู่ 15 วันจึงลาผนวช

    – เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2499 ในระหว่างทรงผนวช ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการ ทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินแทนพระองค์ ซึ่งทรงปฏิบัติราชกรณียกิจ ในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้อย่างเรียบร้อย เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในปีเดียวกันนี้เอง

    – ในปี 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนิน เยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรัชกาล โดยเริ่มจากประเทศสาธารณรัฐเวียดนาม อินโดนีเซีย และสหภาพพม่า และในปี 2503 ก็ได้เสด็จพระราชดำเนิน เยือนประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศในทวีปยุโรป รวม 14 ประเทศ ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2503 ถึง วันที่ 18 มกราคม 2504 ซึ่งในการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศครั้งนั้น นอกจากจะช่วยกระชับความสัมพัน ธ์กับมิตรประเทศแล้ว ทั้งสองพระองค์ ยังได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ จนบังเกิดผลสำเร็จ นำผลประโยชน์มาสู่ประเทศชาติ และประชาชนชาวไทยมากมาย ทรงเป็นที่กล่าวขานถึงพระบารมีเลืองลือขจรไกล

    – ในปี 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมายุเสมอด้วยสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ในวโรกาสมหามงคลข้างต้นตามโบราณราชประเพณี ที่นิยมเฉลิมฉลองวโรกาส ที่พระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเจริญพระชนมายุเสมอด้วยสมเด็จพระบรมราชบุรพการี

    – ในวันที่ 9 มิถุนายน 2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงกระทำ “พระราชพิธีรัชดาภิเษก” อันเป็นพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี และในปี 2520 คณะบุคคลอันประกอบด้วยประชาชนทุกสาขาอาชีพ ได้พร้อมกันแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” พร้อมจัดงานถวายพระพรและเฉลิมพระเกียรติ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา โดยใช้ชื่อว่า “5 ธันวามหาราช” ต่อมาเพื่อความพร้อมเพรียง ในหมู่พสกนิกรชาวไทย ในอันที่จะถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” จึงได้มีการสำรวจประชามติทั่วประเทศ ปรากฎว่าประชาชนมีความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2530

    – วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2529 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” แด่พระองค์ ด้วยทรงเป็นเลิศในศิลปะหลายสาขา อาทิ ดุริยางคศิลป์ ทัศนศิลป์ และนฤมิตศิลป์ เป็นต้น ซึ่งคำว่า “อัครศิลปิน” หมายถึง ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ หรือผู้เป็นใหญ่ในศิลปินก็ได้ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากจะทรงเป็นเลิศในศิลปะทั้งปวงแล้ว ยังทรงมีคุณูปการได้ทรงอุปถัมภ์แก่ศิลปินทั้งหลายด้วย

    – วันที่ 2 กรกฎาคม 2531 ได้มีการจัด “ราชพิธีรัชมังคลาภิเษก” อันเป็นพระราชพิธีเฉลิมฉลอง เนื่องในอภิลักษขิตสมัย ที่ทรงครองราชสมบัติยาวนานกว่า สมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้า แห่งราชอาณาจักรไทยทุกพระองค์ในอดีต ซึ่งเป็นมหามงคลวโรกาสที่หาได้ยากยิ่ง คือ ทรงครองราชย์สมบัติเป็นเวลา 42 ปี 22 วัน ซึ่งเป็นเวลาจำนวนปี และวันเท่ากับสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอัยยิกาธิราช

    – วันที่ 9 มิถุนายน 2539 เป็นวันที่ทรงครองราชย์สมบัติครบ 50 ปี รัฐบาลได้จัดงานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ เพื่อถวายเป็นราชสักการะและถวายพระพรชัยมงคล พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่องานว่า “พระราชพิธีกาญจนาภิเษก” นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษอีกวาระหนึ่ง ที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย

    – วันที่ 23 พฤษภาคม 2543 ได้มีงาน “พระราชพิธีสมมงคล พระชนมายุ 73 พรรษา เท่ากับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” ( สมมงคล อ่านว่า สะ-มะ-มง-คล) คือวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระชนมายุได้ 26,469 วัน เท่ากับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1

    – วันที่ 9 มิถุนายน 2549 ปีนี้ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ได้ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่องานว่า “พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี” ซึ่งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งพสกนิกรชาวไทยต่างร่วมใจกันจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อถวายเป็นราชสักการะ และร่วมเฉลิมฉลองวโรกาสมหามงคลครั้งนี้ ทั่วประเทศ ที่สำคัญคือ จะมีประมุขและพระบรมวงศานุวงศ์ จากมิตรประเทศมาร่วมถวายพระพรด้วย

    – และในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมาแล้วว่า “พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550”

    ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น คือเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช “ในหลวง ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย” ซึ่งตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์ นับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ตราบจนปัจจุบัน เป็นเวลา 60 ปีเต็ม จนกล่าวได้ว่า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก ได้ทรงอุทิศพระวรกาย พระราชหฤทัย และพระสติปัญญาบำเพ็ญ พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งปวง เพื่ออาณาประชาราษฎร์ ของพระองค์อย่างมากมายมหาศาลตลอดมา จนยากยิ่งที่จะหาพระมหากษัตริย์พระองค์ใด หรือประมุขของประเทศใดในโลก มาเทียบเคียงได้

    ดังนั้น ในโอกาสมหามงคลสมัยนี้ จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทั้งใน และนอกประเทศ ได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ด้วยการตั้งใจ “ทำความดี” และ “รู้รักสามัคคี” ถวายเป็นพระราชสักการะ ให้สมกับที่พวกเรา ได้มีบุญเกิดบนผืนแผ่นดินไทย ที่มี “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช” เป็นพระประมุขของชาติ

    ขอขอบคุณข้อมูลข่าว : อมรรัตน์ เทพกำปนาท กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรมแหล่ง

    ข้อมูล: Forword Mail
    ผู้สนับสนุน: เพียวคาร์เร้นท์ โรงแรมเพียวแมนชั่น เพียววิลล่า

    Leave a reply

    *